Taking too long? Close loading screen.

ประวัติหลวงพ่อ

 

ชาติภูมิ

เดิมชื่อ โยย ต่อมาได้ชื่อว่า จเรธี บิดาชื่อ นายแกง มารดาชื่อนางทอน นามสกุล กอนเจิง เกิดเมื่อ จุลศักราช 1284 ตรงกับ พ.ศ 2466 ณ บ้านฮายแสง ตำบลหินแฮ่ อำเภอเมืองหนอง จังหวัดต่องกี รัฐฉานตอนใต้ หลังการคลอดใหม่ ๆ ทั้งแม่และลูกไม่สมบูรณ์นักจึงเกิดอาการเจ็บป่วยอยู่ตลอด และไม่ได้ทำบุญฉลองอายุครบหนึ่งเดือนตามประเพณีไทยใหญ่ พ่อแม่จึงแก้เคล็ดโดยการนำไปให้เพื่อนบ้านแล้วซื้อกลับคืน มีพี่น้อง 9 คน คือพี่ชาย 3 พี่สาว 2 น้องสาว และน้องชาย 2 หลวงพ่อเป็นคนที่ 6

การศึกษา และเหตุการณ์สำคัญในชีวิต

  • พ.ศ. 2478 ถูกควายชน หมดสติสลบไป 1 วัน
  • พ.ศ. 2478-2483 เข้าฝากตัวเป็นศิษย์วัดหินแฮ่ เมืองหนอง
  • พ.ศ. 2486 บรรพชาเป็นสามเณร ได้ชื่อว่า “วิเจยยะ”
  • พ.ศ. 2487 ไปเรียนภาษาพม่าที่เมืองเหม่เมี่ยว
  • พ.ศ. 2488 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วไปศึกษาธรรมะกับ หลวงพ่ออานันทะ วัดส่วยฉิ่น เมืองเหม่เมี่ยว (เวียงป๋างอู๋) ได้ฉายาว่า “ราชวังโส” ศึกษาพระสูตร 1 ฉบับ สัตตะใหญ่ 1 ฉบับ สังคหะ 9 ตอน และวินัย 3 ฉบับ
  • พ.ศ. 2491 เกิดเหตุการณ์พลิกผันทางการเมือง จึงเข้า มายังเมืองไทย โดยเข้ามาพักอยู่ที่วัดกาญจนนันทาราม (ไทยใหญ่) อำเภอเชียงคำ จ.เชียงราย
  • พ.ศ. 2492 กลับรัฐฉานแล้วศึกษาต่อที่ประเทศพม่า ไปอยู่ ที่วัดตอยะ เมืองหย่องลิเปน ได้ศึกษาพระอภิธรรม ณ ที่นี่
  • พ.ศ. 2493-2496 ไปอยู่เมืองย่างกุ้ง เรียนพระปัฏฐาน เรียน พระอภิธรรมทั้ง 5 ได้เข้าฝึกปฏิบัติธรรมกับอาจารย์ญาณส่ากี 1 เดือน และไปปฏิบัติธรรมกับฤาษีอูเหม่น 7 วัน
  • พ.ศ. 2496 กลับมารัฐฉาน (ไทยใหญ่) ไปอยู่เมืองแสนหวีใต้ ทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือ
  • พ.ศ. 2498 กลับไปอยู่ที่วัดหินแฮ่ เมืองหนอง ได้รับ ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างวัดหินแฮ่จนสำเร็จ
  • พ.ศ. 2499 ย้ายไปอยู่บ้านนาสาน เมืองลายค่า ไปทำหน้าที่ ครูสอนหนังสือได้สร้างวัดนาสานจนเสร็จ เริ่มปฏิบัติธรรมเข้มข้นขึ้นโดยได้ไปฝึกอานาปานสติ ที่ถ้ำเปียง ลาง และนำไปฝึกปฏิบัติต่อเนื่องถึง 12 เดือน
  • พ.ศ. 2501 หลวงพ่อปัญญาโภคะ (อดีตพระสังฆาราช ไทยใหญ่) แห่งวัดยุมป่อง เมืองสู้ รัฐฉานเหนือ เป็นประธานจัดทำ พระไตรปิฏกฉบับภาษาไทยใหญ่ โดยมีเจ้าส่วยแต๊ก เจ้าฟ้าแห่งเมือง ยองห้วย เป็นผู้อุปถัมภ์ หลวงพ่อธีถูกทาบทามให้ไปช่วยงานนี้ โดยไป ช่วยงานอยู่ ณ วัดจ๊อกมอง เมืองย่างกุ้ง สำหรับการทำงานเกี่ยวกับ พระไตรปิฏกในครั้งนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจชำระพระสูตร และพระวินัย ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้เข้าฝึกปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 ที่สำนักเปียนปะโก เมืองย่างกุ้ง 17 วัน
  • พ.ศ. 2501-2504 ไปรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองนาง ได้ไปฝึกกรรมฐานแบบสติปัฏฐาน 4 ณ สำนักจ๊อกแม ฝึกที่สำนัก มังกุงอีก 7 วัน และสำนักโขหมักก่ำ เมืองนาย 7 วัน
  • พ.ศ. 2505 เกิดเหตุความพลิกผันทางการเมือง ในรัฐฉาน และพม่าจึงลาสิกขาบท มาร่วมงานกับขบวนการกู้ชาติไทยใหญ่ สมัยหนุ่มศึกหาญ โดยมีเจ้าน้อย ซอหยั่นต๊ะ (เจ้าน้อย มังกร) เป็นผู้นำ ได้แต่งงานกับนางจิ่ง อยู่ด้วยกันได้ 5 ปี นางจิ่งถึงแก่กรรม มีบุตรชาย 1 คน .
  • พ.ศ 2506-2508 ช่วยสร้างวัดบ้านซาง เมืองลายค่า สร้าง เจดีย์ 9 องค์ และเพราะได้ถวายฉัตรยอดพระเจดีย์ จึงได้นามว่า “จเรธี” นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่อยู่เมืองทา (รัฐฉานใต้) ก็ได้สร้างพระเจดีย์ไว้ ที่เมืองทา และที่บ้านห้วยยาว ปางยาง 3 องค์
  • พ.ศ. 2509 จัดงานบวชลูกแก้ว (ส่างลอง) 128 องค์ ริเริ่ม เครื่องแต่งกายส่างลองเป็นแบบฉบับของไทยใหญ่เป็นคนแรกของ เมืองไทยใหญ่ เดิมใช้แบบของพม่ามาตลอด
  • พ.ศ. 2510-2539 มาช่วยงานกองทัพกู้ชาติไทยใหญ่ ภายใต้ การนำของเจ้ากอนเจิง (นายพลกอนเจิง ชนะศึก) ช่วยงานกองทัพ อยู่ถึง 29 ปี โดยทำหน้าที่ฝ่ายศาสนาเป็นอนุศาสนาจารย์ประจำ กองทัพ ได้นำสร้างเจดีย์ถึง 14 องค์ ในที่ต่าง ๆ ทั่วเมืองไทยใหญ่ ในช่วงเวลา 29 ปีดังกล่าวได้เดินทางเข้าออกเมืองไทย ตั้ง รกรากอยู่บ้านหลักแต่งและบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เมื่อมีโอกาสก็เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติธรรมในเมืองไทยหลายที่ หลายแห่งดังต่อไปนี้

1. สำนักจิตภาวันวิทยาลัย จ.ชลบุรี เป็นเวลา 1 เดือน เรียน สติปัฏฐาน 4 (พองหนอ ยุบหนอ)

2. วัดธรรมนิมิต จ.ชลบุรี เป็นเวลา 7 วัน เรียนสติปัฏฐาน 4

3. สำนักสุญญตาราม จ.กาญจนบุรี 20 วัน เรียน ภาวนา พุทโธ

4. สำนักไทรงาม จ.สุพรรณบุรี 7 วัน เรียนสติปัฏฐาน 4

5. วัดสวนแก้ว อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี 10 วัน เรียนสติปัฏฐาน 4 ในช่วงเวลา 29 ปีนี้ ได้ตั้งครอบครัวอยู่ที่บ้านหลักแต่ง ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ มีภรรยาชื่อนางเมี๊ยะทวย ชาว เมืองต้อ บ้านป๋างก้ำก่อ ตำบลปางยาง รัฐฉาน อยู่ห่างจากชายแดน ไทยตรงบ้านหลักแต่ง ต.เปียงหลวงประมาณ 1 กิโลเมตร มีลูกสาว 2 คน ชาย 1 คน ได้แก่ นางคำน้อย นางเปาหอม และนายเกี๋ยงวัน

ความทุกข์เจียนตายในชีวิตเกิดขึ้น 5 ครั้ง

  1. อายุ 29 ปี ถูกทหารกระฉิ่นจับตัวไปขัง เตรียมประหาร แต่หนีรอดมาได้
  2. ถูกทหารจีนฮ่อกองทัพนายพลเลาลี (ก๊กมินตั๋ง) จับที่เมือง กว๋าวโหลง แล้วถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา 
  3. เมื่ออายุ 40 ปี เจ้าน้อย (ซอหยั่นต๊ะ) ผู้นำกองทัพ หนุ่มศึกหาญ จับจะประหารชีวิต แต่มีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จำนวน 40 คนมารับรองค้ำ ประกัน จึงถูกปล่อยตัว เนื่องจากถูกทหารพม่าจับตัวไปแล้วถูกปล่อยตัว กลับมาในเวลาอันสั้นจึงถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสาย
  4. ถูกจับโดยทหารรัฐบาลพม่า 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ถูกตัดสินจำ คุก 3 ปี แต่ขังได้ 1 เดือน 18 วัน ก็ปล่อยตัว ครั้งที่สองถูกจับจำคุก 13 เดือน 
  5. ถูกยิงที่โคนขา 1 ครั้ง

ประสบการณ์การปฏิบัติธรรมครั้งสำคัญ

พ.ศ. 2543 เดือนสิงหาคม ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เกิดธรรมสังเวช โดยได้นั่งพิจารณาลูกแมวที่ถูกกัดมาดิ้นตายต่อหน้า ท่าน ได้นั่งดูอาการ ตั้งแต่เริ่มถูกกัดดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวดทรมาน อุจจาระ ปัสสาวะเรี่ยราด จนสิ้นลมขาดใจตายไปต่อหน้าต่อตา แล้วเกิดธรรม สังเวชจึงพิจารณาเข้าไปในตัวตน จนเกิดความกลัวตาย นอนไม่หลับ ตลอดเวลา 5-6 คืน จนเกิดแรงบันดาลใจขึ้นในคืนวันแรม 9 ค่ำ เดือน 8 (สิงหาคม) ในเวลาประมาณ 23 นาฬิกา ได้ลุกขึ้นแต่งกายชุดขาวเตรียม สิ่งของนำกลดออกมาเพื่อจะหนีออกไปบวชเป็นฤาษีปฏิบัติธรรมเพื่อ ทำพระนิพานให้แจ้งทันก่อนตาย ภรรยาได้ยินเสียงเข้า จึงลุกขึ้นมาสอบ ถามและร้องไห้ห้ามมิให้ออกบวช ท่านก็ได้ ชี้แจงให้ทราบความประสงค์ และบอกว่า จะขอไปปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือน ภรรยาจึงยินยอม ขณะนั้นภรรยาอายุ 45 ปี ตัวท่านอายุ 75 ย่าง 76 ปี

          เวลาประมาณตีหนึ่ง จึงได้ออกเดินเท้าจากบ้านป๋างก้ำก่อ รัฐฉาน ตรงข้ามฝั่งไทย ผ่านด่านพม่า ด่านไทย เข้ามาที่บ้านหลักแต่ง บ้านเปียง หลวง เดินขึ้นไปบนพระธาตุดอยแสง อยู่ทางทิศตะวันตกของ บ้านเปียงหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักปฏิบัติธรรมที่ท่านได้ร่วมก่อตั้ง และเป็นวิปัสนาจารย์สอนกรรมฐานมาเป็นเวลาหลายปี โดยระยะทาง จากบ้านมาถึงสำนักปฏิบัติธรรมนี้ ประมาณ 7 กิโลเมตร ท่านเดินทางถึง ยอดดอยพระธาตุแสงขาว เมื่อเวลาประมาณตีสาม เมื่อถึงแล้วก็นั่งลง ทำสมาธิภาวนาเป็นเวลา 1 ชั่วโมงแล้วจึงลืมตาขึ้น มาตั้งจิตอธิษฐานว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 9 (กันยายน) ข้าพเจ้าจะ ขอบวชเป็น ฤาษีค้นหาธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบที่ใต้ต้นพระศรี มหาโพธ์ิแล้วนำมาสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้และปฏิบัติตาม ข้าพเจ้าจะ ปฏิบัติดังนี้

1. จะรับประทานอาหารเป็นขนมเพียงวันละ 3 ก้อนกับนม 1 แก้ว จนกว่าจะออกพรรษา

2. ถ้าออกพรรษาแล้วยังไม่บรรลุธรรม จะนำข้าวสาร 1 ถังกับ เกลือ 3 กิโลติดตัวแล้วเดินทางขึ้นเขาเข้าป่าลึกไปสู่ดอยไม้ยมเหม็น หัวห้วยผักเลิน (ห่างจากบ้านเปียงหลวงไปทางทิศตะวันตก) ข้าวสาร 1 กระป๋องนมจะหุงกิน 3 วัน ถ้าหากข้าวสารหมด 1 ถังแล้ว จะปลง สังขาร กินเปลือกไม้ ใบไม้ หัวเผือกหัวมันเป็นอาหารแทนข้าว ประพฤติปฏิบัติธรรมไปจนกว่าจะบรรลุธรรมหรือตายไป

          การอธิษฐานดังกล่าวได้ประกาศให้ลูกศิษย์ลูกหาเดิมที่รู้ข่าว และตามขึ้นไปส่งบนเขาประมาณ 14-15 คนได้ทราบด้วย ในวันนั้นเอง บรรดาลูกศิษย์ต่างพากันขนไม้ สังกะสี วัสดุที่พอหาได้ขึ้นไปสร้างกุฎิชั่ว คราวแบบเร่งด่วนให้ 1 หลัง บนยอดเขา อยู่ทางทิศใต้ของพระธาตุแสง ขาว เย็นวันนั้น (แรม 9 ค่ำ เดือน 8 สิงหาคม) ท่านจึงปลงผมแล้วนุ่งผ้า ขาวย้อมน้ำฝาด อธิษฐานบวชเป็นฤาษีรักษาศีล 8 ประพฤติธรรมปฏิบัติ สมาธิภาวนา วิปัสสนาภาวนา ตามแนวทาง ที่เคยศึกษาและฝึกปฏิบัติ มาจากหลาย ๆ สำนัก โดยยึดเอาอานาปานสติภาวนาพิจารณาลมหาย ใจเข้าออก กำหนดรู้ที่การพองยุบของท้อง เอาสติสมาธินำหน้า เอา คำสอนทุกอย่างทุกสำนัก ที่ได้ฝึกหัดร่ำเรียนมามาพิจารณา ค้นคว้า ปฏิบัติ หาสัจธรรม โดยไม่หลับไม่นอนตลอดเวลา อยู่ในอิริยาบถเพียง 3 คือ นั่ง ยืน เดิน จนถึงวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 9 (กันยายน) รวมเวลา 14 วัน

          พอถึงวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 9 ท่านเรียกนายตานหลู่ ซึ่งเป็น ลูกศิษย์และเคยเป็นอาจารย์ช่วยสอนกรรมฐานของท่านมาพบ แล้วบอกว่า “วิธีปฏิบัติที่เราได้ตั้งใจปฏิบัติมาหลาย 10 ปี และมา ปฏิบัติอย่างจริงจังตลอดระยะเวลา 14 วันนี้ ถ้าเป็นวิธีที่จะทำให้เข้าถึง มรรค ผล นิพพาน ได้จริง เราก็น่าจะได้พบเห็น มรรค ผล นิพพาน บ้าง แล้ว แต่นี่ยังไม่สามารถทำพระนิพพานให้แจ้งได้ แสดงว่าวิธีปฏิบัติที่เล่า เรียนฝึกหัดมาทั้งหมดนั้น อาจมีอะไรที่ไม่ถูกต้องตามคำสอนของ พระพุทธเจ้า จึงไม่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติตามประสบความสำเร็จ”

ดังนั้น นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะทิ้งปริยัติ และรูป แบบวิธีการปฏิบัติที่เคยทำมาทั้งหมด”

จากนั้นจึงกรวดน้ำทิ้งของ เก่าที่เคยร่ำเรียนมาให้หมด พร้อมกับเสียใจร้องไห้ออกมา ลูกศิษย์ และญาติโยมที่เห็นท่านร้องไห้กรวดน้ำ ก็กล่าวกันว่า “ฤาษีท่านนี้ เป็นบ้าไปแล้ว” นายตานหลู่จึงถามว่า “ท่านจะเอาอสุภกรรมฐานหรือ” ฤาษีจเรธีตอบว่า “ไม่เอาอสุภกรรมฐาน” “ที่เราต้องการคือพระนิพพาน เราจะเอาธรรมะที่ทำให้ถึงพระนิพพาน” นายตานหลู่ก็ถามว่า “ธรรมอัน ใดหรือที่จะทำให้ถึงพระนิพพาน” ท่านจึงว่า “เมื่อสามารถทำได้แล้วค่อย บอก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หากเราได้พบธรรมแล้วก็จะมา แสดงให้ท่าน ทั้งหลายฟัง หากยังไม่พบธรรมเราจะไม่พูดอะไรอีกต่อไป ธรรมที่เรา ปฏิบัติมาอย่างเข้มข้นตลอด 14 วัน โดยไม่หลับไม่นอน ไม่สามารถทำ พระนิพพานให้แจ้งแก่เราได้” จากนั้นฤาษีจึงกลับมาใคร่ครวญพิจารณาถึงพระสูตรต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางเข้าถึงพุทธธรรม เมื่อทบทวนแล้วจึงเข้าใจว่า ที่เราปฏิบัติมาโดยตลอดหลายสิบปี และตลอดทั้ง 14 วันที่ผ่านมานี้ เราเอาสติและสมาธินำหน้า จึงไม่สามารถเห็นถึงปรมัตถธรรม ที่พบเห็นเป็นได้ก็เป็นเพียงอุคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตเท่านั้น มรรคผลนิพพานนั้นไม่มีนิมิต เราจะต้องเอาปัญญานำหน้า เพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพานซึ่งเป็นอนิมิตตะ อปนิหิตะ และสุญญตะ แล้วปฏิบัติตามอนัตตลักขณสูตรที่พระองค์ทรง แสดงแก่ปัญจวัคคีย์

          การปฏิบัติในเวลาที่เหลือต่อมา เป็นเวลาอีกประมาณ 62 ชั่วโมง ฤาษีจเรธีได้เอามรรคข้อที่ 1 และ 2 นำหน้า คือเอาปัญญาสัมมา สังกัปปะอันเป็นปรมัตถ์นำหน้า ดำริ คิดค้น เสาะแสวงหาธรรมจนละ บัญญัติได้เหลือแต่สภาวะอันเป็นปรมัตถ์ล้วน ๆ สติอยู่กับปรมัตถ์ล้วนๆ ณ ปัจจุบันขณะ จึงเป็นสัมมาทิฐิที่สมบูรณ์ วิปัสสนา ญาณก็เกิดขึ้นทันที เป็นสังขารุเปกขาญาณ (ความสงบรำงับไปจนวางเฉย หยุดความนึก คิดปรุงแต่ง) พ้นจากสมมติบัญญัติเข้าสู่สภาวะที่เป็นปรมัตถ์ล้วน ๆ ตัดทิ้งอนิจจะ ทุกขะ เหลือแต่สภาวะที่เป็นอนัตตา ธรรมสมดังพุทธ ดำรัสที่ว่า

สัพเพ สังขารา อนิจจา,
สัพเพ สังขารา 
ทุกขา,
สัพเพ ธัมมา อนัตตา

สังขารคือร่างกาย จิตใจหรือรูปธรรมนามธรรมทั้งหมด ทั้งสิ้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ธรรมทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขาร และมิใช่สังขารทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ ถือเอา เป็นของเราไม่ได้ ตอนที่ความปรุงแต่งเป็นอุเบกขาไปแล้วนั้น หลวงพ่อ เล่าอาการให้ฟังว่า “เวลานั้น ได้ยินและรู้สึกแต่เสียงหัวใจที่เต้นดัง ต๊อก ๆ ๆ เป็นจังหวะช้า ๆ ไม่มีความนึกคิด ปรุงแต่ง (สังขาร) หรือเวทนา ใด ๆ ปรากฏ เหลืออยู่แต่ผู้รู้อันบริสุทธ์ิกับสภาวะเต้นตอดของหัวใจ ที่กำลังดำเนินไปเท่านั้น เมื่อจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับสภาวะ อันเป็นปรมัตถ์ อนัตตาธรรมนี้ไปไม่นาน

          ณ เวลา 21.00 น. ตรงกับเดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ ปรากฏอาการ ดุจดังไฟฟ้าช็อตตั้งแต่หัวจรดเท้าบังเกิดขึ้น โดยเกิดและดับลงไป ในชั่วพริบตาเดียว หลังจากนั้นแล้ว ทรัพย์สิน ศฤงคาร สมบัติ พัสถาน ลูก ภรรยา ญาติ บริวาร ทุกสิ่งทุกประการ ก็ขาดสะบั้น ความเป็นฉันก็ พลันหายตายขาดไปจากกมลสันดาน บังเกิดความสุขเย็นดุจการ ปลดแอก วางของหนัก พักผ่อนเพราะถึงบ้านที่แท้จริงแล้ว สิ้นสุดการ เดินทางแล้วหลังจากเสวยความสุขสงบเย็นเช่นนั้นอยู่เป็นเวลา พอสมควร จิตยินดียินร้ายอย่างละเอียดอ่อนในสัมผัสต่าง ๆ กลับ ปรากฏผุดขึ้นมา ทำให้รู้ว่ายังไม่ถึงความหมดจด ท่านจึงเจริญ สัมมา สังกัปปะและเข้าถึงสัมมาทิฐิอันสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง     

          อาการครั้งที่สองเกิดขึ้น เมื่อเวลา 05.00 น. โดยได้ยินเสียงคล้ายรถแล้ว เกิดอาการไฟร้อนที่ท้องแล้วปะทุร้อนไปทั่วทั้งตัวแล้วก็หายไปอย่าง รวดเร็ว เกิดความสงบเย็นขึ้นมา จากครั้งที่สอง มาเป็นเวลาพอสมควร จึงได้บำเพ็ญต่อ มีอาการ อย่างนี้เกิดขึ้นมาอีกหนึ่งครั้ง จึงเกิดความคิดว่า จากปัญญาความรู้ที่ได้ มา ฉันจะขึ้นธรรมาสน์แสดงธรรมโปรดผู้คนให้ได้รู้ธรรม (มานะเกิดขึ้น) โอ้…ความคิดอย่างนี้ยังมีอยู่หนอ ท่านจึงทำความพิจารณาด้วย สัมมาสังกัปปะต่อไปอีก

          ต่อจากนั้นมาอีก 4 วัน คือวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เวลา 05.00 น. มีอาการดุจมีของแหลมทิ่มแทงตรงหัวใจ เจ็บแปล๊บ ชั่วพริบตาเดียว ซ่านไปทั้งตัวแล้วก็ดับไป หลังจากนั้น ท่านก็ได้รู้ประจักษ์ ชัดโดยสมบูรณ์ในคำสอนของพระพุทธบิดา ท่านได้รับผลอันพระองค์ ทรงตรัสไว้โดยสมบูรณ์ จนเปล่งวาจาออกมาว่า “ธรรมที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนนี้น่าอัศจรรย์จริง ๆ หนอ พระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่างเลิศล้ำยิ่ง พระเมตตาอันเอกของพระองค์ที่ทรงสั่งสอนแจกแจงธรรม ซึ่ง ข้าพระองค์ได้ทำให้แจ้งประจักษ์แก่ใจตนเองแล้ว”

พิสูจน์ธรรม

เครื่องพิสูจน์ความเข้าถึงสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ ไว้มีอยู่ คือผลสมาบัติและนิโรธสมาบัติ ผลสมบัติการเสวยผลของ ผู้ทำกิจเสร็จสิ้นแล้ว ท่านจึงพิสูจน์ตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรง แนะนำไว้และก็เป็นไปแจ่มแจ้งประจักษ์จริงตามนั้น หลวงพ่อบอกว่า ครั้งแรกจะทำยากหน่อยเพราะไม่ชำนาญ แต่เมื่อรู้ทางแล้ว เขาก็เป็น ไปเองโดยธรรมชาติ ทุกครั้งหรือแม้แต่กระทั่งหากไม่มีกิจเกี่ยวข้องใด ๆ กับโลก ภาวะนั้นก็บังเกิดขึ้นเองเป็นปกติวิสัย

          ภาวะที่เกิดขึ้นจริง และหลวงพ่อธีได้แสดงเป็นธรรมะ ให้ลูกศิษย์ ฟังเพื่อให้รู้ว่าผู้เอาปัญญามรรคคือสัมมาสังกัปปะ และสัมมาทิฐินำหน้า แทนการเอาสติและสมาธินำหน้าได้ชื่อว่า เป็นลูกศิษย์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพุทธบิดา

          คือปฏิบัติธรรม ตามลำดับที่ถูกต้อง โดยเอาปัญญานำหน้า ให้ปัญญาอบรม ศีลมรรค และสมาธิมรรค ให้ศีลและสมาธิ เป็นกองหนุนคอยค้ำ จุนปัญญาสัมมาสังกัปปะค้นคว้าเสาะแสวงหาจนพบต้นเหตุแห่ง ทุกข์คืออัตตา อันอวิชชาหรือโมหะครอบบังไว้ เมื่อเห็นอัตตา ชัดด้วยอำนาจสัมมาสังกัปปะ สติก็จับอัตตาตัวจริงได้ ณ ปัจจุบันขณะเป็นสัมมาทิฐิ อนุโลมญาณก็จะปรากฏขึ้นมาทำหน้า ที่รับจับตัว อัตตานั้นส่งให้มรรคญาณประหารความเป็นตัวเป็น ตนก็ขาดสะบั้นลง เกิดผลขึ้นรองรับในชั่วพริบตาเดียว กันนั้นเอง คือนิพพานธาตุ อมตะธาตุ ที่สุดแห่งการเวียนว่าย ไม่เกิด ไม่ตายอีกต่อไป

          เมื่อสังขารยังไม่ดับ ทำลายก็ได้เสวยสุขอยู่กับ สอุปาทิเสสะนิพพาน มีอุเบกขาญานและผลสมาบัติให้เสวย อยู่เป็นนิจ โดยธรรมชาติเป็นปกติวิสัยของอเสขะบุคคล ตราบจน เมื่อสังขารร่างกายอันนี้หมดอายุขัย ตั้งอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จักถึงวาระแห่งการดับสูญสู่ธรรมธาตุ อันเรียกว่าอนุปาทิเสสะ นิพพาน หมดงาน หมดกิจ โดยสิ้นเชิง และบริบูรณ์

          ปรากฏการณ์ดังที่กล่าวนี้ท่านอาจสามารถพิสูจน์ความจริงได้ทุกเมื่อ เมื่อท่าน ได้ไปพบปะกับ หลวงพ่อธีแล้วลงมือปฏิบัติจริง ด้วยตนเองตามคำ แนะนำของหลวงพ่อ ผู้มีปัญญาที่อัตตมานะเบาบาง และมีความ ตั้งใจจริงที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งใน ปัจจุบันชาตินี้

          เมื่อธรรมทุกอย่างประจักษ์ชัดแก่ตนสิ้นหมดแล้ว หลวงพ่อธี ก็มาพิจารณาว่า เครื่องครองฤาษีนี้มิอาจแบกรับน้ำหนักอันยิ่งใหญ่ นี้ได้ หากไม่เปลี่ยนสู่เพศอันอุดมแล้ว ยากที่จะรักษารูปขันธ์นี้ไว้ได้ จึงได้ไป พบกับพระครูธีรกิจโกศล เจ้าคณะตำบลเมืองแหง เจ้าอาวาสวัดห้วย ไคร้ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ท่านฟัง ท่านเจ้า คณะตำบลซึ่งก็เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทาง สติปัฏฐานสี่อยู่ ประจำ ได้ทราบก็พลอยกราบอนุโมทนายินดีแล้ว จึงประสานนิมนต์ หลวงพ่ออายุ 82 พรรษา 62 อำเภอเชียงดาว พร้อมหมู่สงฆ์อีก 4 รูป มาทำการบอกสมมติให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของคณะสงฆ์ รับรองหลวงพ่อเป็นพระสงฆ์องค์หนึ่งของเมืองไทย ที่วัดเจ้าคณะ อำเภอเวียงแหง

เผยแผ่ธรรมและสร้างสำนักวิปัสสนาภาวนา

จากนั้นหลวงพ่อได้จาริกไปโปรดญาติโยมที่บ้านหมอกจ๋าม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 7 เดือน ไปช่วยงานเขียนธรรมที่วัดป่าเป้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ประมาณ 1 เดือน ไปโปรดที่วัดเมืองนะ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ระยะหนึ่ง ก็กลับมาพักอยู่กับท่านเจ้าคณะตำบลเวียงแหง ที่วัดห้วยไคร้ จนกระทั่งมีคณะปลัดอำเภอหลายอำเภอ และท่านนาย อำเภอเวียงแหง ได้มาพบปะสนทนาธรรมกับท่าน จนเกิดศรัทธา จึงนิมนต์ท่านอยู่จำพรรษาที่พระธาตุเวียงแหงอยู่บนเนินกลางหมู่บ้าน เวียงแหง ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอเวียงแหงมากนัก

          หลังจากนั้น มีโยม จากอำเภอฝาง ชื่อวีระ สุริวงค์ ได้มากราบสนทนาธรรมกับหลวงพ่อแล้ว เรียบเรียงเรื่องที่สนทนาทำเป็นหนังสือแจกไปในที่ต่าง ๆ จนมีนายแพทย์ ทิพย์กับภรรยาเกิดศรัทธานิมนต์หลวงพ่อไปแสดงธรรม โปรดญาติโยม ในตัวเมืองเชียงใหม่อยู่เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จนเกิดดำริกันว่า จะทำอย่างไรให้หลวงพ่อออกไปจำพรรษาอยู่ในเมือง เพื่อให้ญาติโยมได้ มาฟังธรรมสะดวกกว่าการเดินทางไปหาหลวงพ่อที่ อ.เวียงแหง

          ปรึกษาหลวงพ่อแล้ว หลวงพ่อบอกว่า เรื่องนี้ต้องพูดกับท่านนายอำเภอ เวียงแหง เพราะหลวงพ่อรับคำนิมนต์ของท่านไว้ก่อนแล้ว คณะญาติ โยมจึงไปเรียนขอร้องท่านนายอำเภอฯ ด้วยเล็งเห็นประโยชน์เพื่อชนหมู่มาก ท่านนายอำเภอฯ จึง กรุณาถอนนิมนต์ คณะญาติโยมจึงได้นิมนต์ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดร้าง ชื่อพระธาตุห้วยบอนเก่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2545 พระธาตุห้วยบอนเก่าและบ้านห้วยบอน ตั้งอยู่ที่ ม. 13 ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอฝางไปทางตะวันตกประมาณ 4 กม.

          จากนั้นจึงมีญาติโยมจากสถานต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกลมาปฏิบัติธรรมที่ พระธาตุห้วยบอนเก่านี้มากขึ้นเป็นลำดับ และหลวงพ่อก็ได้รับนิมนต์เดิน ทางไปอบรมวิปัสสนาภาวนาในจังหวัดอื่น ๆ อีกด้วย

          ต่อมาก่อนเข้าพรรษาปี 2549 หลวงพ่อได้มาสร้างสำนัก ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นอีกแห่งที่บ้านเจียจันทร์ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว เนื่องจากในบริเวณนี้มีคนท้องถิ่นที่เป็นชาวไทยใหญ่ จำนวนมาก และมีสถานที่เป็นถ้ำเหมาะสำหรับใช้เป็นสถานที่ในการ ปฏิบัติธรรม พร้อมกันนี้ หลวงพ่อเองก็มีวัตถุประสงค์เพื่อโปรดญาติ โยมชาวไทยใหญ่ในบริเเวณนี้ด้วย

          หลวงพ่อธี วิจิตฺตธมฺม เป็นนักคิดนักเขียนมีความรู้ทาง พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมมากจนได้รับนามว่า “จเร” คำว่า จเร ในภาษาไทยใหญ่ ก็คือผู้ทรงความรู้ หรือเป็นบัณฑิตนั่นเอง ก่อนหน้านี้ หลวงพ่อได้เขียนหนังสือไว้มากมาย และมีนามปากกาหลายชื่อ เช่น จายสามแหลม จเรสามมอง จเรหลั่นฝึก จเรกอนเฮือง หลาวเมือง จเรสานคัด แซวลั่นเถื่อน เพ่อเถื่อน ตาแหลวเมือง ขวานวโร ก๋ำจักจ่า อ้ายเฒ่าปากปี๋ เขียวคำเจ้ามห่อ

          นับตั้งแต่หลวงพ่อได้ออกมาจากป่าแล้ว ก็ได้เปิดอบรมวิปัสสนา กรรฐานทั้งที่วัดพระธาตุห้วยบอน สำนักปฏิบัติวิปัสสนาอนัตตาราม และเดินทางไปเปิดอบรมวิปัสสนากรรมฐานตามสถานที่ต่าง ๆ มา โดยตลอด และได้เขียนหนังสือจากประสบการณ์ในการปฏิบัติ วิปัสสนาภาวนาเป็นภาษาไทยใหญ่และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว 4 เล่ม

  1. หนังสือ “การรีดนมจากเขาวัว” พ.ศ. 2545 
  2. หนังสือ “ทางเดินสู่พระนิพพาน” พ.ศ.2550 
  3. หนังสือ “ทางเดินสู่พระนิพพาน” ฉบับย่อ พ.ศ.2551 
  4. หนังสือ “โพธิปักขิยธรรรม 37 ปีกธรรมพระอริยเจ้าบินเข้า พระนิพพาน” พ.ศ.2551

สื่อธรรมะหลวงพ่อ